กลูต้าไธโอน มีหน้าที่อย่างไร สำคัญ ต่อรางกายมนุษย์อย่างไร
กลูต้าไธโอน เป็นสารประกอบที่พบได้ทั่วไปภายในเซลล์ต่างๆ ?ซึ่งร่างกายสามารถสร้างขึ้นได้เอง มีบทบาท และหน้าที่สำคัญ ในกระบวนการต่าง ๆ ภายในเซลล์ เช่น การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เพื่อไปทำหน้าที่ต่าง ๆ (cell differentiation) กระบวนการแบ่งตัวของเซลล์ (cell proliferation) กระบวนการตายของเซลล์ที่ได้รับความเสียหาย (apoptosis) และกระบวนการต่อต้านสารอนุมูลอิสระและกำจัดสารพิษ ดังนั้นถ้าเซลล์มีปริมาณกลูต้าไธโอนลดลงจะทำให้เซลล์และอวัยวะต่างๆ ทำงานผิดปกติ ก่อให้เกิดความชราภาพและก่อให้เกิดพยาธิสภาพของโรคต่าง ๆ ขึ้น เช่น โรคจากการเสื่อมของระบบประสาท (neurodegenerative disorder) โรคซีสติกไฟโบรซีส (cystic fibrosis)และโรคติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ
หน้าที่ของกลูต้าไธโอนที่สำคัญ 4 ประการ คือ
1.ทำหน้าที่ในการกำจัดสารพิษจากภายนอกร่างกายและของเสียต่าง ๆ ในร่างกาย
2.ทำหน้าที่ในการป้องกันการเกิดออกซิเดชัน (antioxidant) รวมถึงการต่อต้านอนุมูลอิสระ?(anti-radicals)
3.ควบคุมกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของเซลล์ เช่น การแสดงออกของยีน การสังเคราะห์
ดีเอ็นเอและโปรตีน การแบ่งตัวและการตายของเซลล์ การส่งสัญญาณภายในเซลล์ (signal transduction) การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
4.รักษาสมดุลของระดับไทออล (thiol status)
สำหรับกลไกในการขับสารพิษ?กลูต้าไธโอนจะเข้าจับกับสารพิษโดยตรงโดยทำตัวเป็นนิวคลีโอไฟล์เข้าทำปฏิกิริยากับสารพิษที่เป็นอิเล็กโตรไฟล์ต่าง ๆ เช่น สารระเหย พิษจากควันบุหรี่ ยาฆ่าแมลง หรือยาบางชนิดซึ่งเป็นสารประกอบฮาโลแอลเคน ฮาโลแอลคีน อะมิโนฟีนอลและควิโนน (Dekant, 2001; Kidd, 1997) โดยอาศัยเอนไซม์กลูต้าไธโอนเอส-ทรานส์เฟอเรส (glutathione-S-transferase, GST) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา สารกลูต้าไธโอน-เอส-คอนจูเกต (glutathione-S-conjugates) ที่เกิดขึ้นจะเกิดเมแทบอลิซึมผ่านวงจรแกมมา-กลูตามิลต่อไป?
นอกจากนี้ กลูต้าไธโอนยังมีหน้าที่ในการขนส่ง การสะสม และการเกิดเมแทบอลิซึมของโลหะ โดยหมู่ไทออล ในโมเลกุลกลูต้าไธโอนจะทำหน้าที่เป็นตัวรีดิวซ์หรือเป็นโคแฟกเตอร์ในปฏิกิริยารีดอกซ์ของโลหะ หรือสร้างสารเชิงซ้อนกับโลหะ เช่น ปรอท เงิน แคดเมียม ตะกั่ว สังกะสี และทองแดง เป็นสารประกอบที่เสถียรและกำจัดออกจากร่างกายได้ง่าย (Hammond et al., 2001) ส่วนไนตริกออกไซด์ซึ่งมีบทบาทในกระบวนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ แต่หากมีปริมาณมากเกินไปจะทำลายเซลล์ประสาท จึงเป็นหน้าที่ของกลูต้าไธโอนในการควบคุมปริมาณไนตริกออกไซด์และอนุพันธ์ภายในเซลล์ โดยกลูต้าไธโอนจะทำปฏิกิริยากับไนตริกออกไซด์ได้ผลิตภัณฑ์เป็นไฮดรอกซิลเอมีนและกลูต้าไธโอนไดซัลไฟด์ ดังนั้นถ้าร่างกายอยู่ในภาวะพร่องกลูต้าไธโอนเนื่องจากภาวะ oxidative stress จะทำให้เซลล์ประสาทว่องไวต่อ ไนตริกออกไซด์และเพอร์ออกซีไนไตรท์ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เซลล์ประสาทเสื่อม (Butterfield et al., 2002)
รับตรวจสุขภาพสำหรับโรงงานโดยแพทย์อาชีวเวช ติดต่อ http://www.thaibdlab.com |